หากคุณกำลังสนใจเริ่มเรียนรู้ศิลปะการต่อสู้แบบผสม หรือ MMA คุณมาถูกที่แล้ว เมื่ออ่านจนจบ คุณอาจพบคำตอบที่คุณกำลังตามหาอยู่ก็ได้
MMA คืออะไร
ศิลปะการต่อสู้แบบผสม หรือ MMA (Mixed Martial Arts) อาจดูเหมือนเป็นการใช้พละกำลังในการต่อสู้เพียงอย่างเดียว แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่แบบนั้นเลย การต่อสู้แบบผสมนี้ต้องใช้ทั้งทักษะ ไหวพริบ รวมถึงความอดทนในการฝึกฝน ไม่ว่าจะเป็นทางด้านร่างกายหรือด้านจิตใจ MMA เป็นการต่อสู้ที่นำศิลปะการต่อสู้หลายแขนงมารวมไว้ด้วยกัน ซึ่งได้แก่ มวยไทย คาราเต้ ยิวยิตสู มวย มวยปล้ำ และอื่นๆ
เริ่มต้นฝึกฝน MMA
ก่อนที่จะเริ่มฝึกศิลปะการต่อสู้แบบผสมนี้ ผู้ที่สนใจควรทำการประเมินคุณลักษณะและคุณสมบัติของตนเองก่อน ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ เพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถทนกับการฝึกฝนได้
ถัดมา สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ การฝึกฝนร่างกาย เพื่อที่จะได้มีพื้นฐานระบบหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular) และความแข็งแรงชองกล้ามเนื้อ (Strength) ที่ดี เพื่อเตรียมพร้อมสู้การฝึกฝนศิลปะการต่อสู้แบบผสมต่อไป ซึ่งการฝึกฝนร่างกายในขั้นตอนนี้สามารถทำได้ด้วยตนเองก่อนที่จะไปฝึกที่โรงฝึกศิลปะการต่อสู้แบบผสม
การฝึกในขั้นนี้ คือ การค่อยๆ เพิ่มความเข้มข้นของการฝึกทั้งในแบบคาดิโอ (Cardio) และในแบบเพิ่มกล้ามเนื้อ (Strength) ไปเรื่อยๆ ซึ่งหากทำได้ก่อนที่จะเข้าโรงฝึกศิลปะการต่อสู้แบบผสมก็จะเป็นการดี เพราะนอกจากจะมีความพร้อมของร่างกายแล้ว ยังทำให้การเปลี่ยนไปฝึกศิลปะการต่อสู้แบบผสมจะเป็นไปได้อย่างง่ายดายขึ้น เนื่องจากศิลปะการต่อสู้แบบผสมนี้ต้องใช้ทั้งเวลา ความขยัน ความอดทน และไหวพริบ เพื่อที่จะประสบความสำเร็จ
แต่นอกจากพละกำลังแล้ว สิ่งที่ขาดไปไม่ได้เลยสำหรับนักศิลปะการต่อสู้แบบผสมก็คือ ความแข็งแรงทางด้านจิตใจ เพราะนอกจากจะต้องฝึกฝนมากกว่าศิลปะการต่อสู้ชนิดอื่นแล้ว การเผชิญหน้าคู่ต่อสู้ก็ยังมาพร้อมกับความกดดันมากมาย ซึ่งหากไม่มีจิตใจที่แข็งแกร่งเมื่อเผชิญหน้ากับคู่ต่อสู้ หรือไม่สามารถอดทนกับการฝึกอันหนักหน่วงได้ ก็ไม่อาจเป็นนักศิลปะการต่อสู้แบบผสมนี้ได้
พื้นฐานการฝึกฝน MMA
ท่าทางที่ใช้ในศิลปะการต่อสู้แบบผสมนำมาจากศิลปะการต่อสู้ต่างๆ โดยการต่อสู้แต่ละรูปแบบจะมีที่มาแตกต่างกันออกไป
- Grappling หรือ มวยจับหักล็อก นำเทคนิคจาก บราซิลเลียนยิวมยิตสู ยูโด มวยปล้ำ และซามบะ
- Striking หมายถึง การเตะ ต่อย หมัด เท้า เข่า ศอก เทคนิคหลักๆ ในรูปแบบนี้นำมาจากมวย มวยไทย มวยคิกบ็อกซิ่ง คาราเต้ และอื่นๆ
แน่นอนว่าท่วงท่าที่ใช้ในศิลปะการต่อสู้แบบผสมไม่ได้มีเพียงเท่านี้ แต่หากคุณต้องการเริ่มฝึกศิลปะการต่อสู้แบบผสม การฝึก 2 รูปแบบนี้ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี ไม่ว่าจะเป็นฝึกด้วยตัวเองหรือฝึกแบบมีผู้สอน
สภาพจิตใจที่ควรมีของนักศิลปะการต่อสู้แบบผสม
ศิลปะการต่อสู้แบบผสมเป็นกีฬาที่ต้องการความแข็งแกร่งทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ เพราะหากจิตใจไม่สู้แล้ว ก็คงทนกับความกดดันที่จะพบเจอในการแข่งขันไม่ได้ นักศิลปะการต่อสู้แบบผสมระดับท็อปทุกคนต้องมีจิตใจที่แข็งแกร่งพอที่สามารถนำพาพวกเขาเหล่านั้นขึ้นไปยังจุดสูงสุดได้
1. ความสามารถในการที่จะก้าวผ่านความเจ็บปวดไปได้
การฝึกฝนศิลปะการต่อสู้แบบผสมต้องใช้ความอดทนเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีศิลปะการต่อสู้หลายรูปแบบมารวมไว้ด้วยกัน ทำให้ต้องศึกษาและฝึกฝนการต่อสู้หลากหลายรูปแบบ ซึ่งมักจะใช้เวลาค่อนข้างมากและยังเป็นการฝึกฝนที่หนักสำหรับร่างกาย
หลายๆ ครั้ง ในการฝึกในศิลปะการต่อสู้แบบผสมจะมีการฝึกการแข่งขัน ที่จะทำการทดสอบนักกีฬาว่ามีความพร้อมทางด้านร่างกายและจิตใจหรือไม่ โดยการซ้อมแข่งขันนี้ บางครั้งนักกีฬาจะต้องแข่งขันโดยมีเวลาพักแค่ครู่เดียวก่อนที่จะต้องเจอกับคู่ต่อสู้คนถัดไป ถ้าหากจิตใจไม่ยอมแพ้ และร่างกายแกร่งพอที่จะสู้ต่อไปก็จะทำให้ผ่านไปได้ด้วยดี นั่นหมายความว่าถ้าคุณสามารถก้าวผ่านความเจ็บปวดไปได้ ก็จะสามารถก้าวขึ้นไปยังขั้นต่อไปได้
2. ความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะไปสู่จุดสูงสุด
การที่มีความมุ่งมั่นที่จะไปอยู่จุดสูงสุดเป็นสิ่งที่นักศิลปะการต่อสู้แบบผสมระดับท็อปหลายคนมี ในจิตใจของพวกเขาแต่ละคนล้วนมีเพียงความต้องการที่จะชนะ และไม่คิดเรื่องการแพ้เลย หากใจมุ่งมั่นที่จะชนะแล้ว ก็จะสามารถข้ามผ่านความเจ็บปวดที่มาจากการฝึกฝนไปได้ และหากเกิดความไม่แน่ใจในตนเองขึ้น ก็อาจทำให้แพ้คู่ต่อสู้ไปได้ง่ายๆ
3. ระดับแรงจูงใจสูง
อีกสิ่งหนึ่งที่นักศิลปะการต่อสู้แบบผสมระดับท็อปหลายคนมีคือ แรงจูงใจที่มากกว่าคนอื่น เพราะแรงจูงใจเป็นหนึ่งสิ่งสำคัญที่จะทำให้แต่ละคนสามารถอดทนอดกลั้นต่อสู้กับอุปสรรคมากมายที่เกิดขึ้นระหว่างการฝึกฝนและการแข่งขัน หากขาดแรงจูงใจ การฝึกฝนก็จะไม่มีคุณภาพไปด้วย การที่จะมีแรงจูงใจให้ได้ตลอด จะต้องมีการกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน และเหตุผลว่าทำไมถึงต้องการที่จะบรรลุเป้าหมายนั้น เมื่อกำหนดได้แล้ว และเป็นสิ่งที่ต้องการจริงๆ ก็จะเกิดแรงจูงใจขึ้นเอง ในบางครั้งอาจเป็นแรงจูงใจที่มาจากภายใน เช่น ความต้องการชนะ หรืออาจเป็นแรงจูงใจจากภายนอก เช่น ไม่ต้องการทำให้ใครผิดหวัง การกำหนดเป้าหมายที่ว่านี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเป้าหมายใหญ่ แต่เป็นเป้าหมายเล็กๆ ได้เช่นกัน เพื่อที่จะรักษาระดับแรงจูงใจให้สูงอยู่เสมอ
4. วิริยอุตสาหะ
วิริยอุตสาหะ หมายถึง ความเพียรพยายาม โดยคำว่า วิริยะ มีความหมายว่า ความเพียร ความบากบั่น ความกล้า และ คำว่า อุตสาหะ มีความหมายว่า ความบากบั่น ความพยายาม ความขยัน ความอดทน
นักศิลปะการต่อสู้แบบผสมจำเป็นต้องมีวิริยอุตสาหะอยู่เสมอ ทั้งในการแข่งขันและการฝึกฝน วิริยอุตสาหะจะทำให้นักศิลปะการต่อสู้แบบผสมสามารถฝึกฝนได้อย่างต่อเนื่องแม้เจออุปสรรค และเมื่อฝึกฝนอย่างต่อเนื่องก็ทำให้โอกาสที่จะชนะมีมากขึ้น บ่อยครั้งที่นักศิลปะการต่อสู้แบบผสมจะต้องพบเจอกับอุปสรรค และการยอมแพ้หรือเลิกเล่นก็ดูเหมือนเป็นตัวเลือกหรือทางออกที่ง่าย แต่หากนักศิลปะการต่อสู้แบบผสมคนนั้นมีวิริยอุตสาหะแล้ว ย่อมสามารถไปถึงเป้าหมายได้
หากคุณมีความตั้งใจที่จะเริ่มฝึกศิลปะการต่อสู้แบบผสมอย่างจริงจัง คุณสามารถมองหาสถานที่ฝึกหรือเลือกที่จะเริ่มฝึกฝนร่างกายตนเองก่อนก็ได้ หรืออาจเริ่มฝึกศิลปะการต่อสู้แขนงในแขนงหนึ่งก่อนก็ได้ เช่น มวยไทยที่มีหลายท่วงท่าที่ใช้ในศิลปะการต่อสู้แบบผสมด้วยเช่นกัน หากกายพร้อมใจพร้อมก็มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จได้อย่างแน่นอน